ข้อมูลธรณีวิทยาและแหล่งแร่

2.1. ข้อมูลธรณีวิทยาและแหล่งแร่

      ลักษณะธรณีวิทยาของกัมพูชา ประกอบด้วย พื้นที่ทางธรณีวิทยาที่แตกต่างกัน 3 รูปแบบ คือ พื้นที่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ และที่ราบระหว่างกลางพื้นที่ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ราบตอนกลางทั้งหมดของประเทศ พื้นที่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ประกอบด้วยหินแปร หินชั้น หินภูเขาไฟ และหินแทรกซอนประกอบเป็นชั้นหินฐานในยุคพรีแคมเบรียนและมีโซโซอิค ตะกอนยุคมีโซโซอิคส่วนใหญ่เป็นตะกอนที่สะสมตัวบนบก หินฐานของพื้นที่ส่วนใหญ่ถูกทับถมด้วยหินบะซอลต์และตะกอนในยุคนีโอยีนและควอเทอนารี พื้นที่ตอนกลางเป็นตะกอนยุคควอเทอนารีที่ค่อนข้างหนาและภูเขาโดดๆ วางตัวอยู่บนชั้นหินฐาน
      การศึกษาทางธรณีวิทยาแสดงให้เห็นถึงการสะสมตัวเป็นระยะๆ ตั้งแต่ยุคพรีแคมเบรียนชั้นล่างสุด จนถึงยุคครีเตเชียสชั้นบนสุด พื้นที่ทั้งหมดได้รับผลกระทบจากการระเบิดของภูเขาไฟและการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกตลอดช่วงอายุหน่วยหินยุคเทอร์เชียรรี ซึ่งมีหินโผล่มาอย่างจำกัด มีการสะสมตัวเป็นชั้นหนาใต้ท้องทะเล และน่าจะเป็นแหล่งเป้าหมายสำหรับการสำรวจก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน

แผนที่ธรณีวิทยาของกัมพูชา
(ที่มา : General Department of Mineral Resources, Cambodia

2.2. แหล่งแร่เป้าหมาย

            จากผลการสำรวจทางธรณีวิทยาของ General Department of Mineral Resources (GDMR) ของกัมพูชา ในปี ค.ศ. 1999 ได้ระบุว่ามีการค้นพบศักยภาพด้านแร่โลหะของประเทศจำนวน 62 ชนิด ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการเกิดของหินอัคนี เช่น สายแร่ทองคำ แร่เหล็กแบบสการ์น ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี แร่ทองคำแบบฝังปะ เป็นต้น หินอัคนีหลายชนิดตั้งแต่หินไรโอไลต์ถึงหินบะซอลต์ และหินแกรนิตถึงหินเซอร์เพนทิไนต์ พบกระจายตัวอยู่ทั่วไปในพื้นที่ของประเทศ
            ในปัจจุบันพื้นที่ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะพื้นที่แร่โลหะยังอยู่ในช่วงระหว่างการสำรวจแร่ ทำให้ยังไม่สามารถระบุศักยภาพที่แท้จริงได้ จำเป็นต้องมีการสำรวจเพิ่มเติมอย่างจริงจัง เพื่อประเมินปริมาณสำรองและความสมบูรณ์ของแหล่งแร่ในอนาคต อย่างไรก็ตามจากสภาพทางธรณีวิทยาของประเทศที่เหมาะสมคาดว่าในอนาคตอาจจะมีการค้นพบแหล่งแร่ที่สำคัญๆ ได้

แผนที่ธรณีวิทยาของกัมพูชา
(ที่มา : General Department of Mineral Resources, Cambodia)


แหล่งแร่ทองคำ
            แหล่งแร่ทองคำพบใน 5 จังหวัดคือ Kampong Cham (แหล่ง Memot), Kampong Thom (แหล่ง Phnom Chi), Preah Vihear (แหล่ง Phnom Deck ในเขต Roveing), Ratanakiri (เขต Oyadav) และจังหวัด Mondulkiri ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะพบเป็นแหล่งที่เกิดกับแร่โลหะพื้นฐานอื่นๆ

แหล่งแร่โครไมต์
            แหล่งแร่โครไมต์ พบในพื้นที่ Phnom Samkos อยู่ในเขตเทือกเขาภาคตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นเขตพื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัดพระตะบอง โพธิสัต และเกาะกง ดำเนินโครงการสำรวจโดยบริษัท Southern Mining ซึ่งบริษัท Vinacomin จากเวียดนามถือหุ้นอยู่ร้อยละ 70

แหล่งถ่านหิน
            พบแหล่งถ่านหินในบริเวณ Phum Talat ทางด้านตะวันออกของแม่น้ำโตนเลสาบ ในจังหวัด Stung Treng โดยพบถ่านหินจำนวน 27 ชั้น มีปริมาณสำรอง 7 ล้านตัน นอกจากนี้พบแหล่งถ่านหินลิกไนต์ ในจังหวัด Kampong Som, Kampot, Savy Rieng, Kratie และ Preah Vihear

แหล่งหินเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง
            พบแหล่งหินบะซอลท์ ในจังหวัด Kampong Cham และ Ratanakiri แหล่งหินแกรนิต ในจังหวัด Kandal, Kampong Chhnang, Prey Veng และ Takeo พบแหล่งหิน Quartzite ในจังหวัด Kampot แหล่งหิน Rhyolites ใน Kampong Cham และพบแหล่งหินทรายในจังหวัด Koh Kong และ Kampong Speu

แหล่งแร่เหล็ก
            แหล่งแร่เหล็ก ได้แก่ แร่เฮมาไทต์ แมกเนไทต์ และลิโมไนต์ พบในสองพื้นที่ คือ แหล่ง Phnom Koh Keo และ Phnom Thmor ที่เมือง Rovieng ในจังหวัดพระวิหาร มีปริมาณสำรอง 5-6 ล้านตัน และแหล่ง Hongfu-Try Pheap ที่เมือง Thalaborivath ในจังหวัดสตึงเตรง มีปริมาณสำรอง 2-3 ล้านตัน

แหล่งแร่รัตนชาติ
            ได้แก่ แหล่งแร่พลอย และทับทิม Phnum Yat ที่จังหวัด Pailin , แหล่งแร่เซอร์คอน Phum Throm ในจังหวัด Preah Vihear ใกล้ชายแดนไทย และแหล่งแร่เซอร์คอน Ban Lung ที่จังหวัด Ratanakiri ใกล้ชายแดนลาวและเวียดนาม

แหล่งแร่เป้าหมายสำหรับนักลงทุนไทย
1) แหล่งแร่ทรายแก้ว ประกอบด้วย แหล่งทรายแก้วจังหวัดเกาะกง ในพื้นที่ Lam Dam และ Mondul Seima ซึ่งอยู่ในตามแม่น้ำ Koh Por ที่ไหลผ่านเมืองเกาะกงขึ้นไปประมาณ 10-15 กม. แหล่งตามชายฝั่งทางทิศตะวันตกของเกาะกง ชายฝั่งในอ่าวกัมปงโสม และตลอดชายฝั่งตอนใต้จากกัมปงโสมไปยังกัมปอต

2) แหล่งหินปูนสำหรับการผลิตปูนซีเมนต์ แหล่งหินปูนคุณภาพดีอยู่ที่จังหวัดกัมปอต ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงพนมเปญ โดยบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด จากประเทศไทยได้เข้าไปทำเหมืองและก่อสร้างโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ที่จังหวัดนี้ด้วย

 


 (ที่มา : www.industry4u.com, 2016)

2.3. สรุปและวิเคราะห์ข้อมูล

            1) กัมพูชามีลักษณะทางธรณีวิทยาที่ชั้นหินมักจะถูกปกคลุมด้วยชั้นดินหนา เพราะส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำ ทำให้สำรวจแหล่งแร่ได้ยากกว่า พื้นที่ที่พบหินโผล่ขึ้นมามากที่สุดจะอยู่ในจังหวัด Ratanakiri และ Mondulkiri ทำให้เป็นพื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่มากกว่าที่อื่นเพราะสำรวจได้ง่าย
            2) ในอนาคตเมื่อกัมพูชามีการพัฒนาเศรษฐกิจมากขึ้น จะมีความต้องการใช้หินปูนเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และแร่อุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น
            3) ในกัมพูชาขาดโครงสร้างพื้นฐานรองรับการสำรวจแร่ เช่น เครื่องมือสำรวจแร่ ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์แร่ ปัญหาอีกอย่างหนึ่งของกัมพูชาคือผู้ลงทุนมักจะขาดการเข้าถึงแหล่งข้อมูลธรณีวิทยาแหล่งแร่

     ข้อมูลธรณีวิทยาและแหล่งแร่

  1. ธรณีวิทยาและแหล่งแร่
  2. แหล่งแร่เป้าหมาย
  3. สรุปและวิเคราะห์ข้อมูล


ประเทศกัมพูชา

Download PDF


ThailandUSA
ปิดโหมดสีเทา