ระบบคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์

7.1. ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในลุ่มแม่น้ำโขง

     เป็นข้อตกลงสาขาคมนาคมขนส่งภายใต้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Subregion Cooperation: GMS) ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Cross-Border Transport Agreement: CBTA)” ครอบคลุมการขนส่งสินค้า ผู้โดยสาร และส่งเสริมการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ โดย GMS ได้มีการพัฒนาแนวระเบียงเศรษฐกิจ (Economic Corridor) ที่มีความสำคัญในการเชื่อมโยงเมียนมากับประเทศไทยไว้หลายช่องทางด้วยกัน

โครงข่ายเส้นทางเชื่อมโยงกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง
(ที่มา : BOI, 2015 และพิชัย อุทัยเชฏฐ์, 2558)

7.2. ช่องทางการขนส่งในประเทศ 

     ช่องทางในการขนส่งสินค้าของ สปป.ลาว เพื่อการส่งออกไปต่างประเทศ โดยเน้นสินค้าที่มีขนาดใหญ่และมีปริมาณมาก เช่น การขนส่งแร่หรือผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง

การขนส่งทางถนน

เส้นทางคมนาคมขนส่งทางบกสายที่สำคัญในประเทศ สปป.ลาว แสดงดังรูป

เส้นทางขนส่งทางถนนใน สปป.ลาว

 

การขนส่งทางรถไฟ

     รัฐบาลไทยได้ให้ความช่วยเหลือรัฐบาลลาวในการก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อระหว่างหนองคาย-เวียงจันทน์ จากจุดกึ่งกลางสะพานมิตรภาพไปยังสถานีท่านาแล้ง ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร และก่อสร้างทางรถไฟสายท่านาแล้ง–เวียงจันทน์ โดยรัฐบาลไทยให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อก่อสร้างระบบรางรถไฟ มีระยะทางรวม 7.75 กิโลเมตร ระยะเวลาในการก่อสร้าง 18 เดือน เสร็จสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2558

     สปป.ลาว ยังไม่มีเครือข่ายระบบการคมนาคมทางรถไฟ แตรัฐบาล สปป.ลาว มีแผนสร้าง เส้นทางรถไฟ เชื่อมระหว่างไทยกับยูนนานของจีน รัฐบาล สปป.ลาว ได้กำหนดเส้นทางสัมปทาน เพื่อก่อสร้างทางรถไฟ มีความยาวทั้งสิ้น 1,500 กิโลเมตร

(www.thaibizchina.com, 2013)

 

การขนส่งทางน้ำ

     การคมนาคมขนส่งทางน้ำ สปป.ลาว มีแม่น้ำสายใหญ่คือ แม่น้ำโขง เส้นทางคมนาคมขนส่งทางน้ำภายในประเทศจึงใช้แม่น้ำโขงเป็นหลัก จึงนับว่าเป็นทางคมนาคมขนส่งทางน้ำที่สำคัญมากของลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูฝน เส้นทางคมนาคมทางบกทำได้ยากลำบาก และเมืองใหญ่ๆ ของลาวก็ตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงเกือบทั้งสิ้น ส่วนในฤดูแล้งอาจจะประสบปัญหาร่องน้ำตื้นเขินในบางช่วงของลำน้ำ

เส้นทางขนส่งระหว่างประเทศตามลำแม่น้ำโขง

 

การขนส่งทางทะเล

     สปป. ลาว ไม่มีพื้นที่ส่วนใดติดทะเล จึงไม่มีท่าเรือเดินทะเลสำหรับส่งสินค้าเข้าออกเป็นของตนเอง จึงต้องอาศัยการขนส่งผ่านไปยังท่าเรือประเทศเพื่อนบ้าน คือ เวียดนามและไทย เช่น ออกสู่ทะเลด้านตะวันออกซึ่งมีท่าเรือหวุงอัน (Vung Ang) ในจังหวัด Ha Tinh ห่างจากเมืองวินห์ (Vinh) 134 กิโลเมตร และท่าเรือน้ำลึกที่นครดานัง (Danang) เป็นท่าเรือน้ำลึกที่ตั้งอยู่ตอนกลางของประเทศเวียดนาม แต่สำหรับการค้าขายกับประเทศไทยและอาเซียนด้านทิศใต้แล้ว การส่งสินค้าเข้าออกผ่านไทยโดยทางถนนหรือรถไฟมาที่ท่าเรือของไทยจะเป็นทางเลือกที่ใกล้กว่า

เส้นทางขนส่งจากไทยผ่านแดน สปป.ลาว ไปยังท่าเรือเวียดนาม
(ศูนย์ข้อมูลการค้าและการลงทุนฯ กรมการค้าต่างประเทศ, 2559)

7.3. การเชื่อมโยงกับระบบขนส่งมายังประเทศไทย

     สปป.ลาว มีชายแดนติดต่อกับไทยเป็นระยะทาง 1,835 กม. โดยมี 12 จังหวัดชายแดน รัฐบาลไทยมีการพัฒนาและมีโครงการเชื่อมโยงระบบขนส่ง ดังรูป

โครงการเชื่อมโยงระบบขนส่งชายแดนของไทยเข้ากับประเทศเพื่อนบ้าน

(ที่มา : จุฬา สุขมานพ, 2557) 

     การเชื่อมโยงโครงข่ายเส้นทางรถไฟในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง การดำเนินงานภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ การเชื่อมโยงโครงข่ายเส้นทางรถไฟในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ทั้งนี้ยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงโครงข่ายเส้นทางรถไฟ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ได้กำหนดเส้นทางที่สำคัญกับ สปป.ลาว คือ เส้นทางกรุงเทพฯ-เวียงจันทน์-คุนหมิง (ผ่านบ่อเต้น-โมฮั่น หรือบ่อหาร)-หนานหนิง

     สำหรับการขนส่งสินค้าตามเส้นทางแม่น้ำโขงนั้นมีต้นทุนค่าขนส่งและโลจิสติกส์ต่ำกว่าการขนส่งทางบก แต่อาจจะประสบปัญหาในฤดูแล้งเนื่องจากร่องน้ำตื้นเขินมาก ท่าเรือที่มีความสำคัญของไทยสำหรับขนส่งสินค้ากับลาว จีน และเมียนมา ได้แก่ ท่าเรือเชียงแสน ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงจังหวัดเชียงราย ตรงข้ามชายแดน สปป.ลาว และท่าเรือเชียงของ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงจังหวัดเชียงราย

7.4. พื้นที่การลงทุน

     สปป.ลาว ให้อำนาจเจ้าแขวงที่สำคัญ เช่น แขวงสะหวันนะเขต จำปาสัก หลวงพระบาง สามารถอนุมัติการลงทุนได้ หากไม่เกิน 5 ล้านเหรียญสหรัฐ พื้นที่ส่งเสริมการลงทุนของลาว แบ่งเป็น 3 โซน ประกอบด้วย
     1) เขต 1 เป็นพื้นที่ยากจนและป่าเขา สามารถยกเว้นภาษีรายได้ 5 ปี
     2) เขต2 เป็นพื้นที่รองลงมา ได้แก่ เขตไกรสรพรมวิหาร ได้ยกเว้นภาษีไม่เกิน 2 ปี
     3) เขต3 อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เขตลงทุนที่สำคัญ ได้แก่ เขตกำแพงนครเวียงจันทน์, แขวงคำม่วน, แขวงสะหวันนะเขต และแขวงจำปาสัก

King’s Romans Casino, Bokeo province
(ที่มา : www.atimes.com, 2015)

7.5. ด่านชายแดน

     เนื่องจาก สปป.ลาว และประเทศไทย มีความสัมพันธ์อันดีมาตั้งแต่อดีต โดยถือว่าเป็นพี่เมืองน้องกัน มีวัฒนธรรม และวิถีชีวิตคล้ายคลึงกัน จึงทำให้ไม่มีปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้น อีกทั้งยังมีการติดต่อค้าขายกันมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะบริเวณจุดเชื่อมโยงกับสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ทั้ง 4 แห่ง อันได้แก่ ด่านศุลกากรหนองคาย–เวียงจันทน์ ด่านมุกดาหาร ด่านนครพนม-แขวงคำม่วน และด่านเชียงของ–บ่อแก้ว เป็นต้น

จุดผ่านแดนไทย-ลาว
(ที่มา : กรมการขนส่งทางบก, 2556)

7.6. เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนของไทย

     รัฐบาลไทยมีนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ 2 รูปแบบ คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน โดยมีแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากรเพื่อสนับสนุนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และได้วางนโยบายพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจเชื่อมโยงกับประชาคมอาเซียน เพื่อส่งเสริมศักยภาพเมืองประตูการค้าชายแดนและเมืองเขตเศรษฐกิจพิเศษ

     สำหรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของไทยที่เชื่อมโยงกับสปป.ลาว ได้แก่ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย, เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม

(ที่มา : ศูนย์ข้อมูลข่าวอาเซียน, 2557)

7.7. เส้นทางขนส่งแร่มายังประเทศไทย

     แหล่งแร่เป้าหมายใน สปป.ลาว สำหรับผู้ลงทุนไทย ประกอบด้วย แหล่งแร่ถ่านหิน แหล่งแร่โลหะ และแหล่งแร่ดีบุก ซึ่งการขนส่งแร่ดังกล่าวสามารถใช้เส้นทางในการขนส่งมายังประเทศไทยได้ดังนี้

     การขนส่งแร่ถ่านหิน จากทางภาคเหนือของลาว ในปัจจุบันสามารถใช้เส้นทางขนส่งผ่านสะพานมิตรภาพแห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) ได้

     การขนส่งแร่โลหะ จากแหล่งแร่ที่พบในแขวงเวียงจันทน์ หลวงพระบาง แขวงเชียงขวางและหัวพัน สามารถเลือกใช้เส้นทางได้หลายเส้นทาง เช่น เส้นทางเชียงของ-เชียงราย, ด่านห้วยโก๋น จ.น่าน, ผ่านสะพานมิตรภาพที่ จ.หนองคาย หรือสะพานข้ามแม่น้ำเหือง จ.เลย เป็นต้น
     การขนส่งแร่ดีบุก แหล่งแร่ดีบุกที่พบในแขวงคำม่วน และแขวงจำปาสักในภาคใต้ สามารถใช้เส้นทางหมายเลข 12 ที่มาจากด่านบ้านนาเพาของลาวที่ติดกับชายแดนเวียดนาม มาตัดกับเส้นทางหมายเลข 13 ก่อนมาสิ้นสุดที่เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน แล้วข้ามสะพานมิตรภาพที่ด่าน จ.นครพนม ของไทย และใช้เส้นทางหมายเลข 10 จากเมืองปากเซ แขวงจำปาสัก มาที่สะพานข้ามแม่น้ำโขงที่ด่านวังเต่า-ช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี

(ที่มา : www.prachachat.net, 2556)

7.8. สรุปและข้อเสนอแนะ

ข้อเสนอแนะและข้อควรปรับปรุงที่ด่านพรมแดน

     1) ควรสนับสนุนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมในพื้นที่ชายแดน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางการค้า เช่น บริเวณพื้นที่ จ.หนองคาย-เวียงจันทน์ จ.มุกดาหาร จ.นครพนม เป็นต้น
     2) รัฐบาลไทยควรมีกลยุทธ์ในการพัฒนาจุดผ่านแดนถาวร/ชั่วคราว/จุดผ่อนปรนที่มีศักยภาพทางการค้า ให้เป็นด่านถาวรที่ได้มาตรฐานสากล (Standardize CIQ) พร้อมทั้งช่วยยกระดับพิธีด่านศุลกากร ทั้งของไทยและของประเทศเพื่อนบ้านให้มีระบบมากขึ้นด้วย
     3) จัดทำคู่มือส่งเสริมการค้าและระเบียบพิธีการและกระบวนการค้าการขนส่งที่ด่านชายแดนกับแต่ละประเทศเพื่อนบ้าน
     4) ต้องยกระดับผู้ประกอบการไทยให้เป็นผู้ประกอบการข้ามชาติ
     5) รัฐบาลต้องออก พ.ร.บ.ส่งเสริมการจัดตั้งเครือข่ายและการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการ แต่เชื่อมโยงในการให้บริการ การพัฒนาเครือข่าย จะเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน
     6) ผู้ประกอบการไทยยังขาดความสามารถและความพร้อมในการออกไปลงทุนในต่างประเทศ

(ที่มา : www.esanguide.com, 2557)

     ระบบคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์

  1. ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในลุ่มแม่น้ำโขง
  2. ช่องทางการขนส่งในประเทศ
  3. การเชื่อมโยงกับระบบขนส่งมายังประเทศไทย
  4. พื้นที่การลงทุน
  5. ด่านชายแดน
  6. เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนของไทย
  7. เส้นทางขนส่งแร่มายังประเทศไทย
  8. สรุปและข้อเสนอแนะ

ประเทศลาว
Download PDF


ThailandUSA
ปิดโหมดสีเทา