กฏระเบียบและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

5.1. นโยบายเกี่ยวกับทรัพยากรแร่และการทำเหมืองแร่

      นโยบายภาครัฐเกี่ยวกับทรัพยากรแร่และการทำเหมืองแร่ของประเทศเมียนมาจะไม่มีการลงทุนของภาครัฐใหม่ แต่จะมีนโยบายสนับสนุนส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศในอุตสาหกรรมเหมืองแร่แทน โดยนโยบายภาครัฐของประเทศเมียนมาสำหรับการทำเหมืองแร่ และพัฒนาทรัพยากรแร่ มีดังนี้

1. ส่งเสริมให้มีการเพิ่มกำลังการผลิตที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศที่เพิ่มขึ้นและนำรายได้เข้าสู่ประเทศ
2. แร่ที่เน้นให้มีการพัฒนา ได้แก่ ทองแดง ทองคำ สังกะสี เหล็ก ถ่านหิน นิกเกิล และแร่สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง เช่น ซีเมนต์ และหินประดับ เป็นต้น
3. ห้ามส่งออกแร่ทุกชนิดที่ยังไม่ได้ผ่านการแต่งแร่ (Raw ores)
4. สนับสนุนการลงทุนในโครงการแต่งแร่ ถลุงแร่ โดยการร่วมทุนระหว่างต่างชาติและภาคเอกชนในประเทศ
5. มีกฎหมายห้ามส่งออกถ่านหิน เพื่อจูงใจให้มีการผลิตถ่านหินเพื่อใช้ในประเทศ ร่วมกับสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นพลังงาน
6. ห้ามต่างชาติทำเหมืองแร่รัตนชาติ แต่สามารถลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องประดับอัญมณี หรือการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าได้

(ที่มา : www.cntraveler.com, 2011)

 

5.2. กฎหมายแร่

      รัฐบาลเมียนมาได้ออกกฎหมายแร่ Myanmar Mines Law (1994) และกฎระเบียบเหมืองแร่ Myanmar Mines Rules (1996) สำหรับควบคุมการสำรวจและทำเหมืองแร่ และได้มีการประกาศใช้กฎหมายแร่รัตนชาติ Myanmar Gemstones Law (1995) เพื่อควบคุมการทำเหมืองแร่รัตนชาติ
เนื่องจากกฎหมายแร่ฉบับเดิมมีการบังคับใช้มานาน จึงได้มีการแก้ไขปรับปรุงใหม่ เพื่อให้มีความสอดคล้องกับกฎหมาย FIL (2012) ที่ได้มีการประกาศใช้ไปแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ และทำให้การดำเนินการด้านแร่เป็นไปด้วยความโปร่งใส

 
ที่มา : Hein Htet, 2015    :   ที่มา : CTV News, 2015)

 

5.3. รูปแบบของการลงทุนทำเหมืองแร่ในประเทศเมียนมา

      เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลเมียนมาได้เน้นให้มีการร่วมทุนกับภาครัฐหรือภาคเอกชนของเมียนมา ดังนั้นรูปแบบการร่วมทุนด้านเหมืองแร่จะมี 2 ลักษณะ คือ รูปแบบการร่วมลงทุนกับรัฐวิสาหกิจเมียนมา และการร่วมลงทุนกับนักลงทุนท้องถิ่น มีรายละเอียดดังนี้

 

รูปแบบการร่วมลงทุนกับรัฐวิสาหกิจเมียนมา

      บุคคลหรือองค์กรสามารถเข้าดำเนินกิจกรรมร่วมค้ากับรัฐวิสาหกิจเหมืองแร่ (Mining Enterprise No. 1, 2, 3) ได้ โดยจะต้องเจรจาและทำสัญญาระบุการแบ่งผลประโยชน์ในรูปแบบการแบ่งผลผลิตหรือการแบ่งผลกำไร กระทรวงเหมืองแร่มีความยืดหยุ่นในการเข้าถือครองหุ้นของกิจการร่วมลงทุน ซึ่งอาจจะมากกว่า หรือน้อยกว่า หรือเท่ากัน เพื่อให้มีความเป็นเหตุเป็นผลในการลงทุน

การร่วมลงทุนกับภาคเอกชนท้องถิ่น

      เพื่อเป็นการกระตุ้นการเพิ่มผลผลิตในภาคแร่ และให้นักลงทุนท้องถิ่นมีโอกาสมีส่วนร่วมและลงทุนในอุตสาหกรรมด้านแร่ รัฐบาลเมียนมาจึงได้มีการร่วมลงทุนกับภาคเอกชนท้องถิ่นในการผลิตแร่ดีบุก พลวง ทองคำ รัตนชาติ หยก แร่ที่ผลิตได้จะมีการแบ่งผลผลิตระหว่างผู้เข้าร่วมลงทุน
การร่วมทุนระหว่างต่างชาติกับผู้ลงทุนท้องถิ่นนั้น ผู้ลงทุนท้องถิ่นจะต้องมีใบอนุญาตสำรวจแร่ หรือทำเหมืองแร่และมีความต้องการร่วมลงทุน อีกรูปแบบหนึ่งคือโอนใบอนุญาตไปยังบริษัทที่ร่วมทุนกันโดยความเห็นชอบของกระทรวงเหมืองแร่ (Ministry of Mines)

 
ที่มา : Hein Htet, 2015    :   ที่มา : CTV News, 2015)

 

5.4. ขั้นตอนและเงื่อนไขการขออนุญาตด้านแร่

      เมื่อนักลงทุนวิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปแล้ว และพบแนวโน้มที่จะเข้าไปลงทุนในเมียนมาตลอดจนสามารถกำหนดชนิดแร่และพื้นที่ในเบื้องต้นแล้ว ต้องทำการศึกษาในรายละเอียดถึงพื้นที่ของศักยภาพแหล่งแร่ ความน่าสนใจ และแนวโน้มของการลงทุนทำเหมืองแร่ต่อไป ขั้นตอนของการขออนุญาตลงทุนทำเหมืองแร่ในประเทศเมียนมามีกระบวนการดังแสดงในรูปด้านล่าง


ขั้นตอนการอนุญาตลงทุนด้านอุตสาหกรรมเหมืองแร่
(ที่มา: กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2557)
 

 

5.5. ภาษีและค่าธรรมเนียมด้านแร่

ภาษีและค่าธรรมเนียมภายใต้กฎหมายเหมืองแร่ ประกอบด้วย ค่าภาคหลวงแร่ และค่าเช่าที่ดิน รายละเอียดดังนี้

ค่าภาคหลวงแร่ (Royalty)

      ค่าภาคหลวงภายใต้กฎหมายเหมืองแร่เป็นภาษีที่คำนวณจากยอดขายตามคุณภาพแร่และราคาในตลาดโลก ผู้ครอบครองใบอนุญาตผลิตแร่จะต้องจ่ายค่าภาคหลวงตามกฎหมายแร่ โดยแตกต่างกันไปตามชนิดแร่ ได้แก่ กลุ่มแร่โลหะ คิดในอัตรา 4% , กลุ่มแร่โลหะมีค่า ในอัตรา 5%, กลุ่มแร่อุตสาหกรรมและหิน ในอัตรา 2% และแร่รัตนชาติ ในอัตรา 20%

ค่าเช่าที่ดิน (Dead Rent)

      กระทรวงเหมืองแร่กำหนดอัตราค่าเช่าเพื่อใช้ประโยชน์ที่ดินในแต่ละปี ดังตารางต่อไปนี้

 

อัตราค่าเช่าที่ดิน (Dead rents) เพื่อสำรวจแร่ (หน่วย: พันจ๊าต/ตร.กม.)

ชนิดแร่

Prospecting

Exploration

ปีที่ 1

ปีที่ 2

ปีที่ 1

ปีที่ 2

ปีที่ 3

ปีที่ 4

ปีที่ 5

แร่อุตสาหกรรม

50

100

100

200

400

600

800

แร่โลหะ

100

200

200

200

800

1,200

1,600

แร่โลหะมีค่า

200

400

400

800

1,600

2,400

3,200

(ที่มา: Department of Mines, Director General Presentation, 2014)

 

อัตราค่าเช่าที่ดิน (Dead rents) เพื่อทำเหมืองแร่ (หน่วย: พันจ๊าต/ตร.กม.)

ชนิดแร่

Feasibility Study

Developing Period

Production

ปีที่ 1

ปีที่ 2

ปีที่ 1

ปีที่ 2

ปีที่ 3

ต่อปี

แร่อุตสาหกรรม

800

1,200

1,400

1,600

2,000

2,000

แร่โลหะ

1,600

1,600

1,800

2,100

2,400

3,000

แร่โลหะมีค่า

3,200

3,200

3,600

4,200

4,800

6,000

(ที่มา: Department of Mines, Director General Presentation, 2014)

 

 

 

5.6. การวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชน

      เนื่องจากมีแนวโน้มว่าการศึกษาและป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนเนื่องจากการทำเหมืองแร่จะมีบทบาทและความสำคัญมากขึ้น ดังเช่นที่มีเหตุการณ์ประท้วงการทำเหมืองแร่ทองแดงเมื่อไม่นานมานี้ ดังนั้นกฎหมายในประเทศเมียนมาและมาตรฐานปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมจะมีความเข้มงวดเพิ่มขึ้น โดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมเหมืองแร่ในประเทศเมียนมา ประกอบด้วย

      • Environment Conservation Law (2012) ได้ประกาศใช้แล้ว แต่กำลังร่างกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องรวมทั้งข้อบังคับในการทำ EIA (Environmental Impact Assessment)
      • Environmental Conservation for Four Main Rivers ที่ห้ามสำรวจแร่และทำเหมืองใกล้แม่น้ำหลักทั้ง 4 แห่ง ภายในระยะ 300 ฟุตจากริมน้ำ คือ แม่น้ำ Ayeyarwady, Than Lwin, Chin Dwin และ Sit Taung (Notification no. 26/2012)
      • The Forest Law (1992)
      • Protection of Wild Life, Wild Plants and Conservation of Natural Areas Law (1994)
      • The Protection and Preservation of Cultural Heritage Regions Law (1998)
      • Union of Myanmar Public Health Law (1972)
      • Myanmar Insurance Law (1993) กล่าวถึงการประกันหรือชดเชยค่าเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพย์สินสาธารณประโยชน์

 


(ที่มา : www.myanmarvels.com, 2014)

 

5.7. หน่วยงานด้านแร่

      หน่วยงานด้านแร่ของภาครัฐที่มีส่วนในการพิจารณาใบอนุญาตด้านเหมืองแร่ ได้แสดงเป็นแผนผังโครงสร้างดังรูปด้านล่าง ซึ่งกระบวนการขอใบอนุญาตสำรวจแร่และใบอนุญาตทำเหมืองแร่จะเกี่ยวข้องหรือต้องการคำแนะนำและความเห็นจากหน่วยงานของรัฐและชุมชนในท้องถิ่น และความเห็นจากกระทรวง Ministry of Forestry and Environment ที่เกี่ยวข้องกับการใช้พื้นที่ป่าไม้และที่ดิน ก่อนที่กระทรวงเหมืองแร่จะอนุมัติ
โดยส่วนใหญ่แล้วบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในเมียนมาจะลงทุนในธุรกิจพลังงานสูงสุด โดยคิดเป็นร้อยละ 41.7 รองลงมาคือ ธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ คิดเป็นร้อยละ 31.1 ธุรกิจในภาคอุตสาหกรรม คิดเป็นร้อยละ 8.6 และธุรกิจเหมืองแร่ คิดเป็นร้อยละ 6.2 ตามลำดับ

 

แผนผังแสดงโครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการขอใบอนุญาตด้านเหมืองแร่
(ที่มา: Thet Aung Lynn and Mari Oye, 2014)

      ส่วนหน่วยงานภาคเอกชนที่มีบทบาทในด้านการทำเหมืองแร่ และมีแนวโน้มในการช่วยหาผู้ร่วมลงทุนในท้องถิ่นกับบริษัทของไทย หรือสนับสนุนการลงทุนและการค้าด้านแร่ ประกอบด้วย Myanmar Federation of Mining Association, Myanmar Gems & Jewellery Entrepreneurs Association, Myanmar Gold Entrepreneurs Association และ Myanmar Engineering Society

 

5.8. สถานการณ์อุตสาหกรรมแร่

      กระทรวงเหมืองแร่ของประเทศเมียนมาได้มีการออกใบอนุญาตด้านแร่ไปแล้ว จำนวน 1,355 ใบ ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 2012 โดยแบ่งออกเป็น ใบอนุญาตสำรวจแร่ จำนวน 551 ใบ ใบอนุญาตทำเหมืองขนาดเล็กจำนวน 520 ใบ ใบอนุญาตทำเหมืองขนาดใหญ่จำนวน 129 ใบ ใบอนุญาตทำเหมืองแบบยังชีพจำนวน 20 ใบ และใบอนุญาตแต่งแร่จำนวน 135 ใบ สำหรับแร่ดีบุก-ทังสะเตน ทองแดง พลวง เหล็ก ถ่านหิน หินอ่อน แกรนิต ทองคำและหินปูน
      ในปี ค.ศ. 2012 เมียนมาผลิตแร่หลายชนิด แร่ที่มีความสำคัญได้แก่ ทองแดง สังกะสี ตะกั่ว ดีบุก และถ่านหิน โดยอุตสาหกรรมเหมืองแร่และเหมืองหินสร้างมูลค่าคิดเป็นร้อยละ 3.7 ของ GDP ของประเทศ แร่ส่งออกที่สำคัญคือ ถ่านหิน ปริมาณ 17.2 ล้านตัน

(ที่มา : Richard W. Hughes, 2014)       

(ที่มา : www.mmbiztoday.com, 2014)

 

 

5.9. สรุปและวิเคราะห์ข้อมูลกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องด้านแร่

      1) นโยบายและกฎระเบียบของรัฐบาลเมียนมาสนับสนุนให้การลงทุนสำรวจและทำเหมืองแร่เป็นไปแบบร่วมทุนกับรัฐหรือบริษัทท้องถิ่น ดังนั้นผู้ลงทุนจากประเทศไทยจึงควรกำหนดยุทธศาสตร์ใน 2 ลักษณะ คือการขอใบอนุญาตสำรวจและทำเหมืองแร่โดยตรงเป็นของตนเองและหาผู้ร่วมลงทุนจากภาคเอกชนของเมียนมา หรือทำสัญญาร่วมทุนกับภาคเอกชนของเมียนมาที่มีใบอนุญาตอยู่แล้ว
      2) การร่วมทุนกับภาคเอกชนเมียนมาที่อ้างว่ามีใบอนุญาตแล้ว ผู้ลงทุนไทยควรตรวจสอบเอกสาร ใบอนุญาตทำเหมือง และเอกสารสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานภาครัฐร่วมด้วย เพื่อยืนยันว่าเป็นเอกสารจริง
      3) การขอใบอนุญาตด้านแร่ยังมีความไม่ชัดเจนในเรื่องกฎระเบียบ มีการเจรจาหลายหน่วยงานทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น มีอุปสรรคในเรื่องความซ้ำซ้อนของรายได้เข้ารัฐ และความล่าช้าของการอนุญาต
      4) กฎหมายแร่ฉบับแก้ไขใหม่ ยังไม่ได้มีความชัดเจนในเรื่องสนับสนุนการลงทุนสำรวจแร่ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ผู้ลงทุนต้องยอมรับความเสี่ยงเอง

(ที่มา : Paula Bronstein, 2015)

     กฏระเบียบและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

  1. นโยบายเกี่ยวกับทรัพยากรแร่และการทำเหมืองแร่
  2. กฎหมายแร่
  3. รูปแบบของการลงทุนทำเหมืองแร่ในประเทศลาว
  4. ขั้นตอนและเงื่อนไขการขออนุญาตด้านแร่
  5. ภาษีและค่าธรรมเนียมด้านแร่
  6. การวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชน
  7. หน่วยงานด้านแร่
  8. สถานการณ์อุตสาหกรรมแร่
  9. สรุปและวิเคราะห์ข้อมูลกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องด้านแร่


ประเทศเมียนมาร์

Download PDF


ThailandUSA
ปิดโหมดสีเทา