ข้อมูลธรณีวิทยาและแหล่งแร่

2.1. ข้อมูลธรณีวิทยาและแหล่งแร่

      ลักษณะโครงสร้างทางธรณีวิทยาของเมียนมาค่อนข้างซับซ้อน โดยทั่วไปสามารถจำแนกตามภูมิสัณฐานและลักษณะธรณีโครงสร้างตามแนวการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก ได้เป็น 4 ส่วนใหญ่ๆ ที่วางตัวอยู่ในแนวเหนือใต้ เรียงจากตะวันออกไปตะวันตก ดังรูป 2.1 คือ
1. The Eastern High Lands (Sino Burman Ranges)
2. The Central Low Lands (Inner Burman Tertiary Zone)
3. The Western Ranges or Western Fold Belt (Indo Burman Ranges)
4. The Rakhine Coastal Belt Rakhine (Arakan Coastal Plain)


รูปที่ 2.1 โครงสร้างทางธรณีวิทยาและแนวการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกในประเทศเมียนมา
(ที่มา : Department of Geological Survey and Mineral Exploration, Ministry of Mines, 2014)

      แผ่นเปลือกโลก Indian Plates มีการเคลื่อนตัวเข้าไปภายใต้ Eurasian Plate ทำให้เกิดเป็นลักษณะของธรณีวิทยาโครงสร้างในแนวเหนือใต้ และหินอัคนีและแมกมาที่เกิดขึ้นในมหายุค Paleozoic ได้ก่อให้เกิดโซนการสะสมตัวของแหล่งแร่หลายชนิด (Mineral Belts) ในประเทศเมียนมา ดังรูป 2.2


รูปที่ 2.2 แผนที่โซนแร่ในแนวเหนือใต้และแหล่งแร่ของเมียนมา
(ที่มา : Department of Geological Survey and Mineral Exploration, 2014 และ Fasken Martineau Institute, 2013)

2.2. แหล่งแร่เป้าหมาย

      แหล่งแร่ที่สำคัญของเมียนมา ประกอบด้วย รัตนชาติและอัญมณี ทองคำ แหล่งแร่โลหะพื้นฐาน เช่น ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี นิกเกิล ดีบุก และโลหะอื่นๆ เช่น เหล็ก โครไมต์ พลวง ดีบุก ทังสเตน แร่พลังงาน เช่น ถ่านหิน และแหล่งแร่อุตสาหกรรมหลายชนิด เช่น แบไรต์ ยิปซัม และหินปูน เป็นต้น

แหล่งแร่โลหะ

Gold mine in Myitkyina, Kachin State, Myanmar
(ที่มา : Juan Pablo Cardenal and Heriberto Araujo, 2011)

1) แหล่งแร่ทองแดง แหล่งที่สำคัญและใหญ่ที่สุด คือ แหล่ง Monywa ในเขต Sagaing มีการทำเหมืองผิวดินมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980
2) แหล่งแร่ทองคำ มีการขุดพบและทำเหมืองที่บริเวณ Kyaukpazat ในเมือง Kawlin เขต Sagaing ทางตอนเหนือของประเทศ โซนของสายแร่ทองคำและทองแดงจะอยู่ในบริเวณพื้นที่ NaiPyiTaw และเขตมัณฑะเลย์ ต่อขึ้นไปทางเหนือและชายแดนทิศตะวันตก และมักพบแร่กลุ่มพลาตินัมเป็นผลพลอยได้ของการผลิตทองคำในรัฐคะฉิ่น และในเขต Sagaing

Gold mine in Myitkyina, Kachin State, Myanmar
(ที่มา : Juan Pablo Cardenal and Heriberto Araujo, 2011)

3) แหล่งแร่นิกเกิล พบแหล่งแร่ที่เมือง Thabeikkyin ในเขตมัณฑะเลย์ แหล่งแร่ในรัฐ Rakhine และมีเหมืองแร่ Taguang Taung ในเขต Sagaing เป็นเหมืองผลิตแร่นิกเกิลที่ใหญ่ที่สุด

Namtu-Bawdwin Mine, Shan State, Myanmar
(ที่มา : Ministry of Mines, 2014)

4) แหล่งแร่เหล็ก ขุดพบที่เหมือง Pinpet ในเมือง Taunggyi ทางตอนใต้ของรัฐฉาน และที่ Phakant Township ในรัฐคะฉิ่น
5) แหล่งแร่ตะกั่ว สังกะสี และเงิน พบทางตอนเหนือของรัฐฉาน ประกอบด้วย แหล่งแร่ Bawsaing, Namtu-Bawdwin, Phaleng และแหล่งแร่ LonChein มีปริมาณแหล่งแร่ตะกั่วและเงินรวมกันมากเป็นอันดับ 6 ของโลก มีเหมืองที่สำคัญและใหญ่ติดอันดับโลก คือ Bawdwin Mine

Namtu-Bawdwin Mine, Shan State, Myanmar
(ที่มา : Ministry of Mines, 2014)

 

6) แหล่งแร่ดีบุกและทังสเตน พบสายแร่ตามแนวหินแกรนิตที่ผ่านตั้งแต่ตะวันออกของย่างกุ้งลงมาทางใต้ ผ่านมะริด และทวาย โดยเฉพาะตามแนวชายแดนติดต่อกับประเทศไทย พบทั้งแหล่งแบบปฐมภูมิและทุติยภูมิ แหล่งที่สำคัญและใหญ่ติดอันดับโลก คือเหมือง Mawchi ในรัฐ Kayah
แหล่งแร่รัตนชาติ

Jade and Gem Emporium, Myanmar
(ที่มา : Xinhua, 2015)


      แร่อัญมณี เช่น เพชร ไพลิน แซฟไฟร์ ไข่มุก ทับทิม และหยก พบหลายแหล่งในเมียนมา แหล่งทับทิมจะมีคุณภาพดีที่สุดของโลก เช่น เหมือง Mogok ในเขตมัณฑะเลย์ และแหล่ง Mongshu ในรัฐฉาน ส่วนแหล่งแร่หยกคุณภาพดีมีชื่อเสียงอยู่ที่เมืองเมียวดี และกลุ่มเหมืองหยก Hpakant ในรัฐคะฉิ่น และเหมืองหยก Khamti ในเขต Sagaing

 

แหล่งแร่เป้าหมายสำหรับนักลงทุนไทย
      1) แหล่งแร่ดีบุกและทังสเตน ตามแนวศักยภาพแหล่งแร่ทางรัฐตอนใต้ในเขต Tanintharyi ส่วนทางตอนเหนือครอบคลุมด้านตะวันตกของรัฐฉาน ซึ่งจะมีแร่ทังสเตนมากกว่าแร่ดีบุก
      2) แหล่งแร่พลวงบริเวณทางใต้ของประเทศ ในรัฐ Mon และ Kayin
      3) แหล่งแร่ตะกั่ว-สังกะสี ในรัฐฉาน มัณฑะเลย์ และคะฉิ่น
      4) แหล่งถ่านหินภาคตะวันออกของประเทศที่อยู่ใกล้ชายแดนของประเทศไทย
      5) แหล่งหินปูนสำหรับการก่อสร้างและอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ทางตะวันออกและทางใต้
      6) แหล่งแร่อุตสาหกรรม เช่น เฟลด์สปาร์ ยิปซัม ที่จะต้องเข้าไปสำรวจแหล่งใหม่ๆ


2.3. สรุปและวิเคราะห์ข้อมูล

      1) เมียนมามีลักษณะทางธรณีวิทยาแหล่งแร่ที่มีศักยภาพ มีแหล่งแร่ที่สมบูรณ์หลายแห่งทั้งที่สำรวจพบแล้วและพื้นที่ศักยภาพที่ยังไม่ได้มีการสำรวจ หรือมีการสำรวจเฉพาะผิวดินเท่านั้น จึงทำให้มีลู่ทางและโอกาสค่อนข้างสูงในการค้นพบแหล่งใหม่ๆ ผู้ที่สามารถเข้าไปถือครองสิทธิ์ได้ก่อนจะมีความได้เปรียบ การสำรวจแหล่งแร่ใหม่ๆ จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเมียนมา และมีโอกาสในการค้นพบและครอบครองแหล่งแร่ที่มีศักยภาพขนาดใหญ่ แต่การเข้าพื้นที่ยังมีความยากลำบากทั้งกายภาพและการขออนุญาต
      2) การสำรวจแร่จะมีปัญหาในด้านการค้นหาข้อมูลเดิมได้ยาก มักจะมีแต่ข้อมูลสำรวจที่ทำโดยรัฐบาลกลาง ในพื้นที่ปกครองโดยกลุ่มชนชาติมักจะไม่มีข้อมูลและแผนที่ และมีผู้รับจ้างเจาะสำรวจและบริการวิเคราะห์แร่ค่อนข้างจำกัดหรือไม่ได้มาตรฐาน (อาจจะเป็นช่องทางที่บริษัทของไทยจะเข้าไปให้บริการในด้านนี้)
      3) แหล่งแร่อุตสาหกรรมจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นสำหรับอุตสาหกรรมในประเทศไทย โดยเฉพาะแหล่งแร่ชายแดนไทย-เมียนมา ที่มีศักยภาพความเป็นไปได้ในการพัฒนาแหล่งแร่ เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการขนส่งที่มีความคุ้มค่ากว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ

 

     ข้อมูลธรณีวิทยาและแหล่งแร่

  1. ธรณีวิทยาและแหล่งแร่
  2. แหล่งแร่เป้าหมาย
  3. สรุปและวิเคราะห์ข้อมูล


ประเทศเมียนมาร์

Download PDF


ThailandUSA
ปิดโหมดสีเทา