ระบบฐานข้อมูลการค้าการลงทุนด้านแร่ในอาเซียน

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

2.1. ข้อมูลธรณีวิทยาและแหล่งแร่

     ลักษณะธรณีวิทยาของ สปป.ลาว ประกอบด้วย หินแปรอยู่ในยุคโพรเทอโรโซอิค โผล่ขึ้นมาทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกของประเทศ หินปกคลุมยุคพาลีโอโซอิคและมีโซโซอิค ประกอบด้วยธารทวีปและตะกอนมหาสมุทรในระดับตื้นและระดับลึกกระจัดกระจายไปทั่วทั้งประเทศ พร้อมทั้งมีการแซกซอนของ granitoid plutons ที่ประกอบด้วยหินเนื้อดอกของหินแกรโนไดโอไรต์ มอนโซไนต์ และควอร์ตในยุคดีโวเนียนถึงไทรแอสซิค หินอัคนีพุ ยุคเพอโม-ไทรแอสซิคประกอบด้วยหินไรโอไรต์ เดไซต์ พบมากทางภาคใต้ของประเทศ ชั้นหินแดงยุคมีโซโซอิคปกคลุมทั่วไปทางตอนใต้ของประเทศ หินเกิดการคดโค้งอย่างรุนแรงในยุคพาลีโอโซอิคตอนต้น พาลีโอโซอิคตอนกลางถึงตอนปลาย และยุคไทรแอสซิค

     ธรณีวิทยาโครงสร้างที่สำคัญ ประกอบด้วย ชั้นหินแนวสุโขทัย (Sukhothai fold belt) ที่ประกอบด้วยหินยุคพาลีโอโซอิคตอนกลางและตอนต้นและหินแกรนิตยุคพาลีโอโซอิคตอนปลาย ชั้นหินแนวเลย (Loei fold belt) ประกอบด้วย หินยุคพาลีโอโซอิคตอนกลางและตอนต้น หินยุคมีโซโซอิคตอนปลาย ชั้นหินแนว Troungson (Troungson fold belt) ประกอบด้วย หินยุคพาลีโอโซอิคตอนกลางและตอนต้น และหินแกรนิตยุคพาลีโอโซอิคตอนปลายและชั้นหินที่ราบสูงโคราช (Khorat Plateau) ประกอบด้วยหินยุคมีโซโซอิคถึงพาลีโอจีน


แผนที่ธรณีวิทยาของ สปป.ลาว
(ที่มา : Department of Mines, Ministry of Energy and Mines, Lao PDR.)


2.2. แหล่งแร่เป้าหมาย

     จากการสำรวจทรัพยากรแร่จนถึงปัจจุบัน พบศักยภาพด้านแหล่งทรัพยากรแร่ (Occurrences) อย่างน้อย 500 แหล่ง กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ โดยแหล่งแร่และการทำเหมืองแร่ที่สำคัญๆ ของ สปป.ลาว มีดังนี้

แหล่งแร่ทองคำ

     เหมืองแร่ทองคำที่ใหญ่ที่สุดใน สปป.ลาว คือ เหมืองเซโปน เดิมบริหารโดยบริษัท Oz Minerals จากออสเตรเลียซึ่งต่อมาบริษัท China MinMetals จากจีนได้ซื้อกิจการส่วนใหญ่และตั้งบริษัทใหม่ในนาม Minerals and Metals Group (MMG) โดยในปี พ.ศ. 2552 ผลิตทองแดงได้ 67,500 ตัน ส่วนใหญ่ส่งออกไปยังประเทศไทยและเวียดนาม
     เหมืองสำคัญอีกแห่งหนึ่ง คือ เหมืองภูคำ และเหมืองบ้านห้วยทราย บริหารงานโดยบริษัท Phu Bia Mining ซึ่งบริษัท Pan Aust จากออสเตรเลียเข้าถือหุ้นร้อยละ 90 ในปี 2015 ที่ผ่านมาเหมืองทั้งสองแห่งสามารถผลิตแร่ทองแดงได้จำนวน 78,449 ตัน, แร่ทองคำ 221,616 ออนซ์ และแร่เงิน 1,664,242 ออนซ์

ภาพแสดงที่ตั้งเหมืองแร่ทองคำ
(ที่มา: Department of Mines, Ministry of Energy and Mines, Laos PDR’s presentation, 2013)

 

แหล่งแร่โปแตช

     แหล่งแร่โปแตซในประเทศลาว ประกอบด้วย เหมืองและโครงการเหมืองแร่ 4 แห่ง คือ บริษัท Sino-Lao Potash Mining จำกัด กำลังการผลิต 50,000 ตัน/ปี บริษัท Sino-Hydro Potash Mining จำกัด กำลังการผลิต 250,000 ตัน/ปี บริษัท Lao Khaiyuan Potash Mining จำกัด กำลังการผลิต 250,000 ตัน/ปี และบริษัท Sino-Agri Potash Mining จำกัด กำลังการผลิต 150,000 ตัน/ปี

แหล่งถ่านหิน

     ปัจจุบันมีเหมืองแร่และโครงการเหมืองแร่ถ่านหินจำนวน 4 แห่ง คือ บริษัท Vieng Phoukha Lignite จำกัด, บริษัท Lao-Agriculture จำกัด , บริษัท Phone sack group จำกัด ผลิตถ่านแอนทราไซต์ และบริษัท Hongsa Lignite จำกัด ซึ่งเป็นโครงการที่ผลิตถ่านหินเพื่อป้อนโรงไฟฟ้าของตัวเอง เป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ


Hongsa Mine Mouth Power Project, Laos PDR.
(ที่มา: www.laogov.gov.la)

แหล่งแร่เป้าหมายสำหรับนักลงทุนไทย
     เมื่อพิจารณาศักยภาพ และความต้องการใช้ในประเทศ แหล่งแร่เป้าหมายของนักลงทุนไทยประกอบด้วย
     1) แหล่งแร่ถ่านหิน นอกจากแหล่งหงสาแล้ว คาดว่าแหล่งถ่านหินของ สปป.ลาว มีขนาดเล็ก แต่บางแหล่งอาจมีคุณภาพสูง บางแหล่งก็มีการเปิดเหมืองไปหมดแล้ว
     2) แหล่งแร่สังกะสี บริษัท ผาแดง จำกัด ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก มีการขอสัมปทานพื้นที่ เพื่อทำการสำรวจแร่
     3) แร่ดีบุก จำเป็นต้องมีการสำรวจแร่เพิ่มเติม โดยเฉพาะในพื้นที่ศักยภาพด้านแร่ดีบุก และโดยเฉพาะที่เป็นแหล่งปฐมภูมิ ทั้งนี้แหล่งในปัจจุบัน (แขวงคำม่วน) มีผู้ดำเนินการอยู่แล้ว
     4) แหล่งหินก่อสร้างตามแนวชายแดนไทย-ลาว เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงสำหรับนักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนผลิตหินป้อนอุตสาหกรรมก่อสร้างในประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันก็มีนักลงทุนไทยบางรายเข้าไปทำการผลิตหินก่อสร้างใน สปป.ลาว อยู่บ้างแล้ว

(ที่มา : www.inhabitat.com, 2016)


2.3. สรุปและวิเคราะห์ข้อมูล

     1) ลักษณะทางธรณีวิทยาที่ก่อให้เกิดศักยภาพแหล่งแร่หลายชนิดทั้งแร่โลหะ และแร่อุตสาหกรรม มีการเปิดการทำเหมืองแร่ในหลายชนิดแร่ ทั้งที่เป็นเหมืองแร่ขนาดใหญ่จนถึงเหมืองแร่ขนาดเล็ก นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ศักยภาพอีกหลายพื้นที่ที่กำลังรอการสำรวจแร่ ซึ่งมีโอกาสค้นพบแหล่งแร่อีกมาก
     2) แหล่งแร่ของลาวโดยเฉพาะแหล่งแร่ชายแดนไทย-ลาว เป็นแหล่งแร่ที่เป็นประโยชน์ต่อไทยเป็นอย่างมาก เพราะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้โดยตรงในไทย ในทางกลับกันแหล่งแร่เหล่านี้ไม่สามารถนำไปใช้ใน สปป.ลาว ได้ เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการคมนาคมขนส่งที่สูงจนอาจไม่คุ้มค่า ดังนั้นประเทศไทยควรเน้นไปยังศักยภาพแหล่งแร่เหล่านี้
     3) การให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการ โดยเฉพาะการสำรวจธรณีวิทยาแก่ สปป.ลาว ที่กรมทรัพยากรธรณีมีการดำเนินการอยู่ การให้การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ลาวของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เป็นแนวทางที่ดีสำหรับการประสานความสัมพันธ์ระหว่างกัน อันจะนำไปสู่ความร่วมมือด้านการลงทุนด้านแร่ในอนาคตได้

Sepon Mine, Ha Tinh, Laos PDR.

Phu Kham Copper-Gold Mine, Laos PDR.

(ที่มา : Khanh DMC-VTS, 2013)

(ที่มา : www.metso.com, 2015)

 


ประเทศลาว